การป้องกันกำจัดแมลงวัน
การสำรวจ ให้ทำการสำรวจแหล่งอาหาร แหล่งเพาะพันธุ์ และแหล่งเกาะพักของแมลงวัน
ขั้นตอนในการปฏิบัติงาน
หลังจากสำรวจพื้นที่โดยรอบแล้ว ให้เลือกวิธีการป้องกันกำจัดแมลงวันตามพื้นที่ที่พบปัญหาดังนี้
- การกำจัดที่แหล่งเพาะพันธุ์ เช่น บริเวณถังขยะ บ่อบำบัด หรือบริเวณสนามหญ้าที่มีน้ำขัง
- - ใช้สารเคมีกำจัดแมลงวันที่เป็นสารยับยั้งการเจริญเติบโตของแมลง โดยการฉีดพ่น เพื่อกำจัดตัวหนอนของแมลงวัน
- - ใช้สารเคมีกำจัดแมลงวันชนิดที่ไม่มีฤทธิ์ตกค้าง โดยการฉีดพ่น เพื่อกำจัดไข่และตัวเต็มวัยของแมลงวัน
- - ในกรณีที่เป็นกองขยะ ซึ่งทับถมกันปริมาณมาก ให้ใช้หัวอัดสารเคมีเจาะอัดสารกำจัดแมลงวันที่เป็นสารยับยั้งการเจริญเติบโตเข้าไปในกองขยะ และฉีดพ่นสารเคมีคลุมบริเวณพื้นผิวด้านนอก
- การกำจัดที่แหล่งเกาะพัก หรือบริเวณที่มีแมลงวันชุกชุม
- - พ่นหมอกควัน หรือฉีดพ่นสารเคมีในบริเวณที่เป็นพื้นที่โล่ง หรือพื้นที่กว้าง หรือบริเวณพุ่มไม้ที่แมลงวันเกาะพัก
- - พ่นฝอยละเอียด (ULV) ในบริเวณที่เป็นพื้นที่ปิด และมีขนาดค่อนข้างเล็ก เช่น ภายในอาคารสำนักงาน หรือในบริเวณที่ไม่ต้องการให้เกิดกลิ่นรบกวน
- - ใช้สารเคมีกำจัดแมลงวันป้ายหรือทาในบริเวณที่แมลงวันเกาะพัก เช่น ถังขยะ ผนังที่แมลงวันเกาะ
- - วางเหยื่อพิษกำจัดแมลงวันในภาชนะ ในบริเวณที่มีแมลงวันชุกชุม
การป้องกันกำจัดยุง
การสำรวจ ให้ทำการสำรวจแหล่งเพาะพันธุ์ และความชุกชุมของยุง เพื่อวางแผนจัดการควบคุม
ขั้นตอนในการปฏิบัติงาน
การกำจัดลูกน้ำยุง โดยการโรยสารกำจัดลูกน้ำยุงรูปแบบเม็ดเคลือบ (Granule) ในบริเวณที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุง ตามลักษณะอุปนิสัยของยุงแต่ละชนิด เช่น
- ยุงลาย มีแหล่งเพาะพันธุ์ในน้ำสะอาดบริเวณบ้านเช่น อ่างน้ำ น้ำในห้องน้ำ แจกันภาชนะใส่ ต้นไม้น้ำ ยางรถยนต์เก่า เป็นต้น
- ยุงรำคาญ มีแหล่งเพาะพันธุ์ในแหล่งน้ำขังบนดิน ท่อระบายน้ำ น้ำครำใต้อาคาร ภาชนะขังน้ำที่สกปรก ริมขอบบ่อน้ำ
การกำจัดตัวเต็มวัย มีหลายวิธีด้วยกัน คือ
- การพ่นละออง - เหมาะสำหรับพื้นที่ภายในอาคารซึ่งมีพื้นที่ขนาดเล็ก และไม่ต้องการให้มีปัญหาเรื่องกลิ่นรบกวนและคราบน้ำมันหลังการทำบริการ โดยการปฏิบัติงานจะต้องปฏิบัติงานพื้นที่ด้านในสุดก่อน แล้วใช้วิธีการเดินถอยหลังออกมาจากพื้นที่ เพื่อป้องกันการสัมผัสถูกสารเคมี
- การพ่นหมอกควัน - ภายในอาคาร ซึ่งมีพื้นที่ขนาดใหญ่ หรือพื้นที่ที่สามารถระบายกลิ่นหลังการรับบริการได้รวมทั้งไม่มีปัญหาเรื่องคราบน้ำมันที่เกิดจากการปฏิบัติงานโดยพ่นให้สารเคมีกระจายทั่วทั้งบริเวณโดยเฉพาะบริเวณที่มีวัสดุห้อยแขวนภายในอาคาร - ภายนอกอาคารช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการการปฏิบัติงานคือช่วงหัวค่ำและเช้ามืดก่อนพระอาทิตย์ขึ้นเพื่อกำจัดยุงรำคาญที่จะออกมาหาอาหารโดยการพ่นในบริเวณที่พบมากมียุงชุกชุม เช่น บริเวณหน้าประตูทางเข้าอาคาร พื้นที่มืดอับลม และบริเวณที่เป็นแหล่งเกาะพักของยุง เช่น พุ่มไม้เตี้ยๆ
- การฉีดพ่นสารเคมี - โดยใช้ถังสเปร์ยแรงดันต่ำ หรือการใช้เครื่องพ่นแรงดันสูง ฉีดพ่นสารเคมีเพื่อให้สารตกค้างพื้นที่ยุงมาเกาะพัก เช่น พุ่มไม้เตี้ยๆ เป็นต้น
แมลงวัน (Fly)
แมลงวันเป็นแมลงชนิดหนึ่งจัดอยู่ใน Order Diptera นับว่าเป็นแมลงชนิดหนึ่งที่มีความใกล้ชิดกับคนมาก ก่อให้เกิดปัญหาอย่างมากในด้านสาธารณสุขและปศุสัตว์ เนื่องจากแมลงวันเป็นพาหะนำเชื้อโรคติดต่อเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร โรคเกี่ยวกับตา เช่น โรคริดสีดวงตา ตาแดง ชนิดที่กัดกินเลือดได้มักก่อให้เกิดปัญหาทางด้านปศุสัตว์ นอกจากนั้นระยะตัวอ่อนของแมลงวันบางชนิดสามารถไชเข้าทางผิวหนังหรือบาดแผลของคนและสัตว์ ก่อให้เกิดการอักเสบทางผิวหนังและแผลเน่า นอกจากปัญหาของแมลงวันดังกล่าวแล้ว ยังพบว่าแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลงวันมักมีกลิ่นเหม็น รบกวน มีผลต่อความเป็นอยู่ของคนและสัตว์
วงจรชีวิตของแมลงวัน แมลงวันการเจริญเติบโตแบบ Complete metamorphosis แบ่งเป็น 4 ระยะ คือ ไข่ ตัวหนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัย ระยะเวลาของการพัฒนาการแต่ละระยะขึ้นอยู่กับ อุณหภูมิ ความชื้นและอาหาร หากอุณหภูมิสูงแมลงวันบ้านจะมีพัฒนาการเร็ว ชนิดแมลงวันที่พบในไทย มีดังนี้
- แมลงวันบ้าน (House fly)
- แมลงวันหัวเขียว (Blow fly)
- แมลงวันหลังลาย (Flesh fly)
- แมลงวันคอกสัตว์ (Stable fly)
ยุง (Mosquitoes)
ยุงเป็นแมลงที่ทุกคนรู้จักกันดี มีแพร่กระจายทั่วโลกทั้งในเขตร้อนและเขตหนาว ในประเทศไทยมียุงอยู่ทั่วไปทุกหนทุกแห่ง ยุงเป็นแมลงที่มีปีกเพียง 1 คู่ จัดอยู่ในอันดับดิพเทอร่า วงศ์คูลิซิดี้ (Order Diptera, Family Culicidae) มีปากเป็นท่อยาวสำหรับแทงลงไปดูดเลือดจากผิวหนังของเหยื่อ ตามลำตัวตลอดจนปีกยุงจะมีเกล็ดเล็ก ๆ ปกคลุมอยู่ ยุงแทบทุกชนิดวางไข่ในน้ำหรือตามที่ชื้นแฉะ ลักษณะการวางไข่แตกต่างกันตามแต่ชนิดของยุง ตัวอ่อนหรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ลูกน้ำ หากินอยู่ตามผิวน้ำ
ลักษณะการลอยตัวของลูกน้ำต่างกันในยุงแต่ละชนิดเช่นกัน ลูกน้ำจะอยู่ในน้ำจนเข้าดักแด้ ดักแด้ยุงบางคนเรียกว่า ตัวโม่ง ซึ่งต้องลอยตัวอยู่ที่ผิวน้ำตลอดเวลา เมื่อเป็นตัวเต็มวัยจะบินออกหากินตามที่ต่าง ๆ อาหารของยุงคือเลือดคนและสัตว์เลือดอุ่นบางชนิด นก สุนัข ฯลฯ แต่ยุงที่ดูดเลือดจะเป็นยุงตัวเมียเท่านั้น เพราะยุงตัวผู้มีปากไม่เหมาะสมกับการแทงลงไปดูดเลือดจากผิวหนัง อาหารของยุงตัวผู้คือน้ำหวานตามเกสรดอกไม้หรือตามที่ชื้นแฉะ ยุงตัวผู้อายุสั้นจะตายหลังการผสมพันธุ์ 1-2 วัน ยุงที่ดูดกินเลือดคนและสัตว์ในประเทศไทยมีอยู่หลายสิบชนิด แบ่งออกเป็นพวกใหญ่ ๆ โดยอาศัยลักษณะภายนอกได้ดังนี้
- ยุงบ้านหรือยุงรำคาญ (Culex sp.)
- ยุงลาย (Aedes sp.)
- ยุงก้นปล่อง (Anopheles sp.)
- ยุงเสือ (Mansonia sp.)