ผลงานบริษัทฯ

การป้องกันกำจัดมด

การสำรวจ ให้ทำการสำรวจหารังมดให้พบ โดยจะต้องทราบชนิดของมดนั้นก่อน ในการตามหารังมดอาจสังเกตได้จากร่องรอยของมดที่ทิ้งไว้ โดยมดจะใช้ทางเดินซ้ำๆ ในการเข้ามาหาอาหาร โดยเราอาจวางอาหารพวกน้ำตาลหรือโปรตีนเพื่อล่อให้มดเข้ามา แล้วติดตามเพื่อค้นหารังมด ตามลักษณะอุปนิสัยของมดแต่ละชนิด

ขั้นตอนในการปฏิบัติงาน

หลังจากสำรวจและทราบชนิดของมดและเส้นทางเดิน รวมทั้งรังของมดแล้ว ให้เลือกวิธีการกำจัดหรือป้องกันมดดังนี้

  • ภายในอาคาร ควรใช้การวางเหยื่อกำจัดมด วางในบริเวณที่เป็นทางเดินของมด เหยื่อควรเป็นชนิดเม็ดเคลือบขนาดเล็ก เพื่อให้มดขนกลับไปที่รังได้ ซึ่งในบริเวณนั้นไม่ควรมีอาหารหรือน้ำให้มดเลือกกิน และต้องวางติดต่อกันหลายวัน
  • ภายนอกอาคาร ควรฉีดพ่นสารเคมีเพื่อป้องกันไม่ให้มดเข้ามาในอาคาร
  • การกำจัดมดที่รัง โดยการฉีดพ่นสารเคมีชนิดออกฤทธิ์เร็ว
  • ในกรณีที่ไม่สามารถหารังมดพบ สามารถใช้สารกำจัดแมลงชนิดผงโรยในบริเวณที่คิดว่าใกล้รังมดมากที่สุด หรือ ใช้ลูกบีบพ่นสารเคมีชนิดผง ในบริเวณที่เป็นซอกมุมต่างๆ ที่มดเดินผ่าน เพื่อให้มีฤทธิ์ตกค้างได้นาน และมดสามารถขนกลับไปที่รังได้

หมายเหตุ บางครั้งมดอาจมีรังย่อยอยู่ภายในอาคาร โดยมักจะอยู่บนฝ้าเพดาน ซอกมุมตามผนัง

การป้องกันกำจัดแมลงสาบ

การสำรวจ ให้ทำการสำรวจตามลักษณะอุปนิสัยของแมลงสาบแต่ละชนิด เพื่อให้ทราบชนิด ปริมาณและแหล่งหลบซ่อน โดยอาจวางบ้านแมลงสาบควบคู่ไป

ขั้นตอนในการปฏิบัติงาน

หลังจากสำรวจอาคารอย่างละเอียดแล้ว และทราบสาเหตุของแมลงสาบ ณ จุดต่างๆ ที่เกิดขึ้น ให้เลือกวิธีการกำจัดที่สามารถป้องกันและกำจัดแมลงสาบได้ ดังนี้ มีหลายวิธีที่นำมาปฏิบัติ โดยสรุปแล้วมี 4 วิธีคือ

  • ใช้สารเคมีกำจัดแมลงฉีดพ่น โดยใช้อุปกรณ์ คือถังสเปรย์แรงดันต่ำ ฉีดพ่นสารเคมีที่มีฤทธิ์ตกค้าง หรือไม่มีฤทธิ์ตกค้าง
    1.1 ฉีดพ่นสารเคมีในพื้นที่ต่ำกว่าหน้าอกให้ละเอียดก่อน ในบริเวณแหล่งที่แมลงสาบหลบซ่อนตัวอยู่ เช่น ในท่อระบาย ในรอยแตกร้าวของอาคาร ซอกตู้ หรือบริเวณถังขยะ โดยเน้นตามซอกมุม ร่อง หลืบ และรอยแตกร้าวบนผนังทั่วไป
    1.2 ใช้สารเคมีชนิดบรรจุกระป๋อง(aerosol)โดยใช้ก้านหัวฉีดยาวฉีดพ่นเก็บงานระดับที่สูงกว่าหน้าอก จนกระทั่งถึงฝ้า
    1.3 ใช้สารเคมีชนิดบรรจุกระป๋องที่มีก้านหัวฉีดยาว และขนาดเล็ก ในบริเวณที่เป็นซอกมุมเล็กๆ
  • ทำการพ่นหมอกควัน เสริมในบริเวณที่ไม่สามารถใช้วิธีการอื่นๆ ได้ เนื่องจากอยู่ลึก หรือห่างไกลการปฏิบัติงานด้วยวิธีอื่น เช่น ในท่อระบายน้ำช่องว่างใต้อาคาร ช่องใต้หลังคา ฯลฯ ตามความเหมาะสมกับลักษณะของสถานที่
  • วางเหยื่อพิษ หรือหยอดเจล เสริมในช่วงเวลาหรือสถานที่ๆ เหมาะสม เช่น มุมใต้โต๊ะบริเวณที่ประกอบอาหาร ใต้โต๊ะเตรียมอาหารว่าง เก้าอี้ ลิ้นชัก กล่องสายไฟ เป็นต้น
  • วางกับดักแมลงสาบในบริเวณที่พบปัญหาเพื่อใช้วางแผนการปฏิบัติงานในครั้งต่อไปและตรวจสอประสิทธิภาพหลังการปฏิบัติงาน

การวางดับดักแมลงสาบ

  • วางกับดักแมลงสาบพร้อมอาหารล่อ ในบริเวณที่พบปัญหาแมลงสาบ หรือในบริเวณที่สงสัยว่าอาจมีปัญหาแมลงสาบ
  • ให้ตรวจสอบจำนวนของแมลงสาบแต่ละชนิด และระยะการเจริญเติบโตของแมลงสาบ

มด (Ant)

มดเป็นสัตว์สังคมอยู่รวมกันเป็นรัง แบ่งเป็น 3 วรรณะ คือ 1. มดตัวผู้ ทำหน้าที่ผสมพันธุ์กับราชินีมด 2. มดตัวเมีย หรือ ราชินีมด ทำหน้าที่ผสมพันธุ์ วางไข่เพิ่มประชากรมดในรัง 3. มดงาน เป็นมดตัวเมีย ทำหน้าที่ทุกอย่างภายในรัง เช่น หาอาหาร เลี้ยงดูตัวอ่อน ป้องกันศัตรู

วงจรชีวิตของมดเริ่มจากไข่ ไข่ฟักเป็นตัวอ่อน ระยะตัวอ่อนกินเวลาหลายสัปดาห์จนถึงหลายเดือนขึ้นกับชนิดของมด ตัวอ่อนของมดมีลักษณะคล้ายตัวหนอน ลักษณะอ้วนป้อม ไม่มีขา จะได้รับการดูแลให้อาหารโดยมดงาน มดงานจะสำรอกอาหารที่เป็นของเหลวให้ตัวอ่อนกิน เมื่อโตเต็มที่ตัวอ่อนจะลอกคราบเป็นดักแด้ โดยอาจมีหรือไม่มีปลอกดักแด้หุ้ม จากนั้นจะลอกคราบครั้งสุดท้ายเป็นตัวเต็มวัย

ชนิดของมดที่สำคัญ ได้แก่ มดละเอียดหรือมดคัน (Pharaoh ant, Monomorium pharaonis) ขนาด 1.75-2.0 มม. สีเหลืองอ่อนปนน้ำตาล ส่วนท้องจะมีสีเข้มขึ้นเกือบดำ เป็นมดที่เราพบเห็นเสมอตามบ้านเรือน โรงพยาบาล โรงแรม หอพัก มดชนิดนี้กินอาหารได้หลายอย่าง เช่น ของหวาน น้ำผึ้ง น้ำตาล ขนมปัง แมลง อาจพบมดติดปะปนกับเสื้อผ้า เมื่อสวมใส่ก็จะถูกกัด จัดเป็นมดที่ก่อปัญหามากที่สุดชนิดหนึ่งในเคหะสถาน ชอบทำรังใกล้แหล่งอาหาร เช่น ช่องว่างตามกำแพงบ้าน รอยแตก วงจรชีวิตจากไข่ถึงตัวเต็มวัย ประมาณ 38-45 วัน การผสมพันธุ์มีได้ตลอดปี ราชินีมดอาจวางไข่ได้ถึง 400 ฟอง ในรังอาจมีราชินีมดหลายตัว สมาชิกในรังอาจมีมากถึง 3 แสนตัว การขยายรังเกิดจากราชินีมดและมดงานกลุ่มหนึ่งอพยพไปสร้างรังใหม่ เรียกว่า “การสร้างรังย่อย” ตามปกติมดชนิดนี้จะมีรังย่อยหลายรัง การแยกรังมักเกิดเมื่อประชากรมดหนาแน่น

แมลงสาบ (Cockroach)

แมลงสาบมีมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ประมาณ 200 ล้านปีมาแล้ว เป็นแมลงที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดี จึงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้จนถึงปัจจุบัน จัดเป็นแมลงที่ก่อความรำคาญมากที่สุดในจำนวนแมลงที่อาศัยอยู่ตามตัวอาคารบ้านเรือน โกดังเก็บสินค้า โรงสี โดยแมลงสาบจะเข้าไปรบกวนและกัดกินอาหารทุกชนิดในบ้านเรือน แล้วขับถ่ายของเสีย (fecal material) ทิ้งไว้ทำให้อาหารมีกลิ่นเหม็น นอกจากจะทำอาหารเสียมีกลิ่นเหม็นแล้วทำให้อาหารสกปรกไม่น่ารับประทาน ด้วยสาเหตุดังกล่าวมีผลทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการควบคุมและป้องกันกำจัดแมลงสาบตามโกดังเก็บของ ห้องอาหาร ห้องครัว และบริเวณตัวอาคารบ้านเรือนเป็นเงินจำนวนมากในแต่ละปี แมลงสาบจึงมีผลต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์ ตลอดจนสภาวะทางด้านเศรษฐกิจและสังคม

วงจรชีวิตของแมลงสาบ

แมลงสาบ มีการเจริญเติบโตแบบ Gradual metamorphosis แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะไข่ ระยะตัวอ่อน และระยะตัวเต็มวัย ตัวเมียจะวางไข่เป็นฝัก (egg case) เรียกว่า ootheca ในฝักไข่จะมีไข่เรียงอยู่ภายใน 2 แถว จำนวนไข่ในแต่ละฝักจะแตกต่างกันในแต่ละชนิดของแมลงสาบ ตัวอ่อนจะฟักตัวออกจากฝักไข่ทางแนวตะเข็บด้านบนของฝักไข่ ตัวอ่อนที่ออกมาระยะแรกมีสีขาวครีม ลักษณะโดยทั่วไปเหมือนตัวเต็มวัย แต่ต่างกันที่ยังไม่มีปีก ตัวอ่อนจะมีการเจริญเติบโตโดยการลอกคราบหลายครั้งก่อนจะเจริญเป็นตัวเต็มวัย แมลงสาบตัวเต็มวัยมีลำตัวแบนรีเป็นรูปไข่ มีสีต่างๆ กันตั้งแต่สีน้ำตาลอ่อนไปจนถึงสีดำ มีปีกคู่หลังหรือไม่มีก็ได้ หรืออาจจะมีปีกกุดสั้น แมลงสาบที่พบและเป็นปัญหามากในประเทศไทย มีชนิดที่สำคัญดังนี้

  • แมลงสาบอเมริกัน (American cockroach)
  • แมลงสาบเยอรมัน (German cockroach)
  • แมลงสาบแถบลายน้ำตาล (Brown-banded cockroach)
  • แมลงสาบตะวันออก (Oriental cockroach)


ข่าวสารบริษัทฯ

คลิปกำจัดปลวก

เอกสารบริษัท