บริการกำจัดปลวก
หลังจากสำรวจอาคารอย่างละเอียดแล้วและทราบสาเหตุของปลวก ณ จุดต่างๆ ที่เกิดขึ้น ให้เลือกวิธีการกำจัดที่สามารถป้องกันและกำจัดปลวกได้ ดังนี้
1. การป้องกันกำจัดปลวกเฉพาะจุด
ในอาคารที่สำรวจพบมีการเข้าทำลายของปลวก จำเป็นต้องเร่งดำเนินการกำจัดเฉพาะจุดนั้นๆ เสียก่อน เพื่อลดความเสียหายและความรุนแรงในการเข้าทำลายให้ลดลงไปในระดับหนึ่งก่อน ซึ่งอาจดำเนินการโดยใช้วิธีต่างๆ ดังต่อไปนี้
1.1 กรณีที่พบปลวกเข้าทำลายชิ้นส่วนหรือวัสดุต่างๆ เช่น กล่อง ลังเก็บหนังสือหรือโครงสร้างไม้ที่พบมีปลวกเข้าทำลายมากๆ
- ใช้วิธีขนย้ายชิ้นส่วนดังกล่าวออกไปทำลาย หรือ เคาะเอาตัวปลวกไปทำลาย
- ใช้สารกำจัดปลวกฉีดพ่นให้ทั่วเพื่อลดปริมาณปลวกให้ลดลงในระดับหนึ่งก่อน
1.2 กรณีที่พบเส้นทางเดินดินของปลวกที่ทำขึ้นมาเพื่อเข้าสู่โครงสร้างของอาคาร โดยพบว่ามีการเข้าทำลายของปลวกทั้งภายในและภายนอกอาคาร สามารถสังเกตเห็นเส้นทางเดินของปลวกขึ้นมาหรือมีร่องรอยในการทำลายไม้ควรปฏิบัติดังนี้
- ฉีดพ่นเข้าไปตามร่องรอยแตกของโครงสร้างอาคารที่ปลวกทำทางเดินขึ้นมา โดยเลือกใช้วิธีการดังนี้
1. สารเคมีชนิดน้ำ โดยใช้เข็มฉีดยา
2. สารเคมีในรูปกระป๋องฉีดพ่น aerosol ซึ่งมีก้านหัวฉีดยาวเล็ก
3. สารเคมีในรูปผง โดยใช้ลูกยางบีบพ่นผง
2. การใช้สารเคมีเจาะอัดสารเคมีลงพื้นของอาคารที่เป็นคอนกรีต
สิ่งที่ควรคำนึงถึงก่อนการปฏิบัติงาน
1. แนวการวางระบบท่อต่างๆ ใต้พื้นอาคาร
2. บ่อพักน้ำหรือแท้งน้ำใต้พื้นอาคาร
3. พื้นอาคารมีระบบป้องกันน้ำซึมหรือไม่
4. บ่อเลี้ยงปลาในบริเวณใกล้กับพื้นที่ทำบริการ
ขั้นตอนการปฏิบัติงาน
1. ใช้สว่านไฟฟ้าเจาะพื้นอาคาร ขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร โดนเจาะพื้นคอนกรีตให้ทะลุถึงพื้นดิน ตามบริเวณขอบแนว
คานทั้งด้านนอกและด้านใน และรอบๆ เสา โดยห่างจากผนังอาคารไม่เกิน 30 เซนติเมตร เว้นระยะห่างกันทุกๆ 1 เมตร
และพื้นที่ภายใต้อาคารทั้งหมดในระยะทุกๆ 1 ตารางเมตร
2. ทำความสะอาดพื้นบริเวณที่ทำการเจาะก่อนการอัดสารเคมี
3. ทำการอัดสารเคมีปริมาณ 5 ลิตร ต่อทุกๆ 1 ตารางเมตร โดยใช้เครื่องอัดแรงดันสูง
4. ทำการการปิดรูอัดสารเคมี ด้วยวัสดุที่มีความใกล้เคียงกับพื้น เช่น
พื้นคอนกรีต ปิดด้วยหัวปิดพลาสติก
ลงไปลงกว่าผิวพื้น 1-2 เซนติมตร แล้วปิดทับด้วยซีเมนต์ พื้นไม้หรือปาร์เก้ ปิดด้วยการหัวปิดพลาสติกสีใกล้เคียงกับ
สีพื้นให้เสมอกับผิวพื้น หรือใช้อุปกรณ์อื่นๆ ตามความเหมาะสม เช่น หัวปิดทองแดง เป็นต้น
5. ทำความสะอาดพื้นที่ที่ทำการเจาะพื้นอัดสารเคมีให้เรียบร้อย
ปลวก (termites)
ปลวก (termites) มีชีวิตอยู่ร่วมกันเป็นสังคมโดยจะอยู่รวมตัวกันเป็นกลุ่มใหญ่บ้างเล็กบ้าง ถ้าเป็นกลุ่มใหญ่ๆ อาจมีสมาชิกในกลุ่มได้ประมาณถึงล้านตัว การเป็นอยู่แบบสังคมนี้ก็คือการอยู่รวมกันของสัตว์ ซึ่งจะมีสมาชิกในรังหลายแบบด้วยกันมีการแบ่งหน้าที่กันทำ และแม่รังจะอยู่กับลูกและสมาชิกภายในรังไปจนตลอดชีวิต รูปร่างของสมาชิกแต่ละแบบเรียกว่า วรรณะ โดยจะมีวรรณะสืบพันธุ์ วรรณะกรรมกร และวรรณะทหาร ซึ่งแต่ละวรรณะจะทำหน้าที่แตกต่างกันออกไป
ปลวก เป็นแมลงที่สามารถกินอาหารได้หลายอย่าง หรือหลายประเภท (polyphagous) เป็นตัวการสำคัญที่เข้าทำลายอาคารบ้านเรือนและอุปกรณ์ประดับบ้านที่ทำด้วยไม้ หรือวัสดุที่มีเซลลูโลสเป็นองค์ประกอบ ปลวกทั่วไปเป็นแมลงที่ชอบอาศัยและมีชีวิตอยู่ในที่มืด กิจกรรมต่างๆ ของปลวกจะดำเนินในที่มืดตลอดเวลาเกือบทั้งหมด ยกเว้นเฉพาะในช่วงแมลงเม่าซึ่งปลวกวรรณะขยายพันธุ์จะมีนิสัยตรงกันข้าม โดยแมลงเม่าชอบบินเข้าหาแสงไฟ
การจำแนกปลวก
โดยทั่วๆ ไป ปลวกสามารถจำแนกออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ตามลักษณะของที่อยู่อาศัย ได้แก่ ปลวกที่อาศัยอยู่ในดิน (ground dweller termites) และปลวกที่อาศัยอยู่ในไม้ (wood dweller termites)
ชีววิทยาของปลวก
ปลวกเป็นแมลงที่อยู่กันเป็นสังคม ระบบสังคมของปลวกมีวิวัฒนาการที่สูงมาก ปลวกแต่ละรังประกอบด้วยวรรณะต่างๆ ประมาณ 3 วรรณะดังต่อไปนี้ 1. วรรณะสืบพันธุ์ (reproductive) ได้แก่ ปลวกนางพญาและราชา (queen and king) ปลวกนางพญาทำหน้าที่วางไข่ และปลวกราชาทำหน้าที่ในการผสมพันธุ์ นอกจากนี้ ในวรรณะสืบพันธุ์ยังมีวรรณะสืบพันธุ์สำรอง ซึ่งจะเป็นนางพญาหรือราชา ในกรณีที่นางพญาหรือราชาเกิดเสียชีวิตไป 2. วรรณะกรรมกรหรือพลรัง (worker) ได้แก่ ปลวกงาน มีทั้งเพศเมียและเพศผู้ ลำตัวขนาดเล็กกว่าวรรณะอื่นๆ เป็นหมันและทำหน้าที่ทุกอย่างในรัง เช่น หาอาหาร ป้อนอาหารให้กับสมาชิกภายในรังทั้งหมด สร้างรัง 3. วรรณะทหาร (soldier) มีขนาดค่อนข้างใหญ่กว่าปลวกงาน โดยที่ลักษณะของส่วนหัวจะมีสีเข้มและแข็งแรง กราม (mandible) เจริญเติบโตไปเป็นอวัยวะที่ใช้ในการต่อสู้หรือป้องกันตัว วรรณะประเภทนี้จะทำหน้าที่ในการป้องกันรักษารัง จากลักษณะการอยู่เป็นสังคมและมีวรรณะต่างๆ นี้ทำให้ระยะการเป็นตัวอ่อนของปลวกมีระยะนานและเป็นช่วงที่เพิ่มศักยภาพการทำลายของปลวกสูง ในรังปลวกที่โตเต็มที่แล้วจะประกอบไปด้วยปลวกงานประมาณ 80-90% และปลวกวรรณะทหารประมาณ 5%
วงจรชีวิตของปลวก
ปลวกมีระยะการเจริญเติบโตแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะไข่ ระยะตัวอ่อน ซึ่งคล้ายตัวเต็มวัยแต่สีอ่อนกว่า และระยะตัวเต็มวัยซึ่งระยะเวลาในแต่ละวัยแตกต่างกันตามแต่ชนิดของปลวก ปลวกในช่วงระยะเวลาขยายพันธุ์เราเรียกปลวกพวกนี้ว่า แมลงเม่า ซึ่งเป็นปลวกที่มีปีก หลังจากแมลงเม่าออกจากรังได้ไม่นาน พวกมันก็จะสลัดปีกทิ้ง เพื่อจับคู่และสร้างรังใหม่
ความสำคัญของปลวกทางด้านเศรษฐกิจ
1. ทำความเสียหายต่อไม้ยืนต้นที่ยังมีชีวิตอยู่ ได้แก่ ปลวกที่ทำรังอยู่บนต้นไม้
2. ทำความเสียหายต่อเนื้อไม้ที่อยู่กลางแจ้ง เช่น ไม้ที่หักโค่นตามธรรมชาติ ไม้ท่อนซุง ไม้เสาไฟฟ้า เสาโทรเลข ไม้หมอนรถไฟ
3. เข้าทำลายแผ่นชิ้นไม้ประกอบ (wood based composites) ได้แก่ ไม้อัด ไม้ประสาน แผ่นชิ้นไม้อัดสับ (particle board) แผ่นไม้อัดความหนาปานกลาง (medium density fiberboard, MDF)
4.ทำความเสียหายต่ออาคารบ้านเรือนและสิ่งก่อสร้างต่างๆ ส่วนประกอบของอาคารบ้านเรือนที่ทำจากไม้ เช่น ไม้พื้นปาร์เก้ คร่าวฝา คร่าวเพดาน วงกบ ข้าวของมีค่าต่างๆ เช่น หนังสือ กระดาษ เสื้อผ้า ผ้าม่าน
ในบางประเทศพบว่าปลวกทำลายบ้านเรือน อาคาร มูลค่าเสียหายมากกว่าความเสียหายที่เกิดจากภัยธรรมชาติหรือไฟไหม้ ในประเทศไทยพบว่าร้อยละ 61.5 ของบ้านเรือนทั่วประเทศจะถูกปลวกเข้าทำลายก่อให้เกิดความเสียหาย